การเริ่มต้น

  • การเริ่มต้นแข่งขันแบบฟรีสไตล์ กบ และผีเสื้อ จะต้องทำโดยการกระโดดพุ่งตัวออกจากแท่นกระโดดลงไปในน้ำ เมื่อผู้ตัดสินชี้ขาดเป่านกหวีดเสียงยาว ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องก้าวมายืนบนแท่นกระโดด และยืนอยู่ส่วนหลังของแท่นกระโดด เมื่อผู้ปล่อยตัวให้คำสั่ง เข้าที่ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องก้าวไปยืนที่ปลายสุดของแท่นกระโดดทันที พร้อมกับก้มตัวลงโดยเร็ว เมื่อผู้เข้าแข่งขันทุกคนอยู่ในท่านิ่ง ผู้ปล่อยตัวจะให้สัญญาณปล่อยตัว (โดยใช้เสียงปืน ออด นกหวีด หรือคำสั่งอื่น ๆ)
  • การเริ่มต้นการแข่งขันแบบกรรเชียง และแบบผลัดผสม จะต้องเริ่มจากในน้ำ เมื่อผู้ตัดสินชี้ขาดเป่านกหวีดเสียงยาว ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องลงไปในน้ำทันที และกลับเข้ามาอยู่ในตำแหน่งทำเริ่มต้นโดยไม่มีการถ่วงเวลา นิ้วเท้าจะต้องอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำ เมื่อนักว่ายน้ำทุกคนเข้าอยู่ในตำแหน่งของการเริ่มต้นแล้ว ผู้ปล่อยตัวจะใช้คำสั่งว่า เข้าที่ เมื่อผู้เข้าแข่งขันทุกคนอยู่ในท่านิ่ง ผู้ปล่อยตัวจะให้สัญญาณปล่อยตัวทันที
  • ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันชิงแชมป์โลก และการแข่งขันรายการอื่น ๆ ของฟีน่า คำสั่งที่ใช้จะใช้คำว่า Take your marks เป็นภาษาอังกฤษด้วยเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ทุกคนเข้าประจำที่ที่แท่นกระโดดของแต่ละคน เสียงเครื่องขยายจะต้องดังพอสำหรับการให้สัญญาณซ้ำ เมื่อการเริ่มต้นฟาล์วเพื่อเรียกนักกีฬากลับมาเริ่มต้นใหม่
  • ผู้ปล่อยตัวสามารถเรียกผู้เข้าแข่งขันที่ทำฟาล์วในการปล่อยตัวครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาเตือน เพราะจะไม่กระโดดก่อนสัญญาณการปล่อยตัวจะเริ่มขึ้น หลังจากการฟาล์ว 2 ครั้งแล้ว นักว่ายน้ำคนใดเริ่มออกก่อนสัญญาณการปล่อยตัวจะเริ่มขึ้น เข้าจะต้องถูกตัดสิทธิ์ถ้าเสียงสัญญาณการเริ่มต้นดังขึ้นก่อนการทำฟาล์วครั้งที่ 3 การแข่งขันให้ดำเนินต่อไป และนักว่ายน้ำหนึ่งคนหรือหลายคนที่ทำฟาล์วนั้น จะถูกตัดสิทธิ์เมื่อการแข่งขันในเที่ยวนั้นได้เสร็จสิ้นลง ถ้าหากมีการทำฟาล์วเกิดขึ้นก่อนสัญญาณเริ่มต้น ให้ปรับคนทำฟาล์วนั้นหมดสิทธิ์ และเรียกนักว่ายน้ำที่เหลืออยู่นั้นกลับมาเตือนแล้วจึงเริ่มต้นใหม่อีก
  • สัญญาณฟาล์วในการเริ่มต้นฟาล์วจะเหมือนกับสัญญาณการปล่อยตัว (โดยใช้ปืน ออด นกหวีด หรือคำสั่ง) แต่จะต้องปล่อยเชือกฟาล์วลง ถ้าผู้ตัดสินชี้ขาดได้พิจารณาเห็นว่าการเริ่มต้นนั้นฟาล์ว ผู้ตัดสินชี้ขาดจะต้องเป่านกหวีด ผู้ปล่อยตัวจะต้องให้สัญญาณซ้ำ และปล่อยเชือกฟาล์วลงด้วย
  • ถ้าเกิดความผิดพลาดหรือความขัดข้องทางเทคนิคจากกรรมการ เจ้าหน้าที่ และทำให้ผู้เข้าแข่งขันฟาล์ว การทำฟาล์วนี้จะไม่นับเป็นการกระทำฟาล์วของนักว่ายน้ำแต่อย่างใด

การว่ายน้ำแบบต่าง ๆ

การว่ายแบบฟรีสไตล์

ฟรีสไตล์ คือ รายการที่ผู้เข้าแข่งขันจะว่ายแบบใดก็ได้ ยกเว้นในการว่ายแบบเดี่ยวผสมหรือแบบผลัดผสม ฟรีสไตล์ หมายถึง การว่ายน้ำแบบใด ๆ นอกเหนือจากการว่ายกรรเชียง กบ และผีเสื้อ ในการว่ายแบบฟรีสไตล์ การกลับตัวและการเข้าเส้นชัยของนักว่ายน้ำจะสามารถแตะผนังขอบสระด้วยส่นหนึ่งส่วนใดของร่างกายได้ การใช้มือข้างหนึ่งข้างใดแตะก็ย่อมได้

การว่ายแบบกรรเชียง

  • ผู้เข้าแข่งขันจะต้องลงไปตั้งต้นในน้ำ โดยหันหน้าเข้าหาแท่นตั้งต้น มือทั้งสองจับที่จับสำหรับการเริ่มต้น เท้าทั้งสองรวมทั้งหัวแม่เท้าจะต้องอยู่ใต้ผิวน้ำ ห้ามเหยียบ ยืน หรือใช้หัวแม่เท้าเกาะอยู่ที่รางระบายน้ำ นักว่ายน้ำจะต้องไม่เคลื่อนไหวส่วนใด ๆ ของร่างกายก่อนสัญญาณการเริ่มต้นจะเริ่มขึ้น
  • เมื่อให้สัญญาณการเริ่มต้น หรือการกลับตัวให้ถีบตัวออกในลักษณะนอนหงาย และต้องว่ายในท่านอนหงายตลอดการแข่งขัน มือทั้งสองจะต้องไม่ปล่อยจากที่เกาะก่อนสัญญาณเริ่มต้นจะเริ่มขึ้น
  • ผู้เข้าแข่งขันคนใดเปลี่ยนท่าจากท่านอนหงายปกติ ก่อนที่ศรีษะ ไหล่ มือ หรือแขน จะแตะขอบสระ เพื่อการกลับตัวหรือเข้าเส้นชัย จะต้องถูกตัดสิทธิ์ให้แพ้ฟาล์วทันที จะอนุญาตให้บิดไหล่ตีลังกาได้หลังจากที่มือแตะขอบสระอย่างสมบูรณ์แล้ว เพื่อการกลับตัว แต่นักว่ายน้ำจะต้องกลับสู่ท่านอนหงายทันที ก่อนที่เท้าทั้งสองจะหลุดออกจากขอบสระ ท้านอนหงายปกติของการว่ายแบบกรรเชียง จะคลุมไปถึงการกลิ้งของลำตัวในการเคลื่อนไหว แต่ไม่รวมถึงตำแหน่งลำตัวที่กลิ้งจนทำมุมกับแนวนอนเป็นมุม 90 องศา ส่วนตำแหน่งของศีรษะจะอย่างไรก็ได้

การว่ายแบบกบ

  • ตั้งแต่เริ่มต้นของการใช้แขนจังหวะแรก หลังจากออกเริ่มต้น และหลังจากการกลับตัวแต่ละครั้ง ลำตัวของผู้ว่ายจะต้องอยู่ในท่าคว่ำหน้า ไหล่ทั้งสองจะต้องขนานเป็นแนวเดียวกันกับผิวน้ำ
  • ตลอดเวลาการเคลื่อนไหวของแขนทั้งสองข้างต้องทำพร้อม ๆ กัน และอยู่ในระดับเดียวกัน แขนทั้งสองจะไม่มีการเคลื่อนไหวสลับกันขึ้นลง
  • การพุ่งแขนทั้งสองจะต้องพุ่มไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันจากหน้าอกและดึงกลับไปข้างหลังที่ระดับผิวน้ำ หรือใต้ผิวน้ำก็ได้ (ยกเว้นในการเริ่มต้นและการกลับตัว) มือทั้งสองจะต้องไม่ดึงกลับหลังจนเลยแนวสะโพกไป
  • ตลอดเวลาการเคลื่อนไหวของขาทั้งสองจะต้องทำพร้อม ๆ กัน และอยู่ในระดับเดียวกัน ขาทั้งสองจะไม่มีการเคลื่อนไหวสลับกันขึ้นลง
  • การเตะขา เท้าทั้งสองจะต้องเตะกวาดออกไปด้านนอกในลักษณะเคลื่อนไปทางด้านหลัง ไม่อนุญาตให้เตะขาสลับขึ้นลงหรือแบบปลาโลมาสะบัดหาง ขาทั้งสองจะขึ้นมาอยู่เหนือผิวน้ำก็ได้ แต่จะต้องไม่เตะขาลงแบบปลาโลมาสะบัดหาง
  • ในการกลับตัวแต่ละครั้ง และการเข้าเส้นชัย จะต้องแตะขอบสระด้วยมือทั้งสองพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเหนือหรือใต้ระดับผิวน้ำ ไหล่ทั้งสองจะต้องอยู่ในลักษณะขนานกับผิวน้ำ
  • ในการว่ายแต่ละช่วง 1 จังหวะของการดึงแขนหนึ่งครั้ง เตะขาหนึ่งครั้งจะต้องมีบางส่วนของศรีษะของนักว่ายน้ำโผล่พ้นระดับน้ำให้เห็น ยกเว้นหลังจากการออกเริ่มต้นและการกลับตัวแต่ละครั้ง นักว่ายน้ำสามารถดึงแขนใต้น้ำได้ 1 ครั้ง และเตะขาได้ 1 ครั้ง ก่อนที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำ

การว่ายแบบผีเสื้อ

  • แขนทั้งสองจะต้องยกไปข้างหน้าเหนือน้ำ และดึงกลับไปหลังพร้อม ๆ กัน
  • ลำตัวจะต้องอยู่ในลักษณะคว่ำหน้า ไหล่ทั้งสองจะต้องขนานกับระดับผิวน้ำ ตั้งแต่จังหวะเริ่มต้นของการใช้แขนจังหวะแรก และภายหลังจากการเริ่มต้นและการกลับตัวแต่ละครั้ง
  • ตลอดเวลาการเคลื่อนไหวของขาทั้งสอง จะต้องเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน ขาและเท้าทั้งสองจะต้องเคลื่อนขึ้น ลงพร้อม ๆ กันในแนวดิ่ง ขาและเท้าทั้งสองไม่อยู่ระดับเดียวกันก็ได้
  • การกลับตัวแต่ละครั้งและการเข้าเส้นชัย การแตะขอบสระจะต้องแตะด้วยมือทั้งสองพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะแตะเหนือหรือใต้ระดับผิวน้ำ ไหล่ทั้งสองจะต้องขนานกับระดับผิวน้ำ
  • ในการเริ่มต้น และการกลับตัวแต่ละครั้ง อนุญาตให้นักว่ายน้ำเตะขาได้ 1 ครั้ง หรือมากกว่าต่อการดึงแขนใต้น้ำได้ 1 ครั้งเท่านั้น เพื่อให้นำตัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำ

การว่ายเดี่ยวผสม ผลัดผสม

  • ในรายการว่ายเดี่ยวผสม นักว่ายน้ำจะต้องว่ายรวม 4 แบบตามลำดับ คือ ผีเสื้อ กรรเชียง กบ และฟรีสไตล์
  • ในรายการว่ายผลัดผสม จะต้องประกอบไปด้วยนักว่ายน้ำ 4 คน และว่ายคนละแบบตามลำดับ คือ กรรเชียง กบ ผีเสื้อ และฟรีสไตล์

 

Leave a comment